สนใจจะชื้อไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่๑ไปเลี้ยงขยายพันธุ์ติดต่อกลุ่มเลี้ยงไก่บ้านห้วยห้างโทร๐๘๙-๐๗๘๓๕๐๓,๐๘๙-๘๓๕๖๒๖๒,๐๘๖-๑๑๓๐๗๕๕

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นมาของไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ๑ ไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้

จากการที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงเชียงรุ้งได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำตั้งแต่ต้นปี๒๕๕๔ โดยการลองผิดลองถูกหวังไว้ว่าจะมีของดีของเด่นด้านปศุสัตว์คือไก่ประดูหางดำแบบว่าเมื่อพูดถึงประดู่หางดำต้องที่เวียงเชียงรุ้ง ความหวังเลือนลางไปบ้างแล้วเพราะว่าเกษตรกรที่ทางสำนักงานส่งเสริมนำมาให้ไปเลี้ยงเขาขายไปเกือบหมดเหลือไว้ทำพันธุ์ไม่กี่ตัว ในช่วงที่กำลังจะเลิกก็ลองโทรไปขอจองพันธุ์ไก่ประดู่หางดำของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ก็ได้รับการพิจารณาจัดให้ และประสานกันมาตลอดจนวันนี้

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ นายอำนวย เลี้ยวธารากุล นักวิชาการสัตวบาล ชำนาญการพิเศษ จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ผู้ที่อยู่ในโครงการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำตั้งแต่ต้น ได้เดินทางมาเยี่ยมชมไก่ประดู่หางดำในพื้นที่เวียงเชียงรุ้งเพื่อให้คำแนะนำ ซึ่งจากการที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงเชียงรุ้ง ได้ดำเนินการหาพันธุ์ไก่ประดู่หางดำจากนายซิมโอน สันทรายเชียงใหม่เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มสนใจตำบลป่าซาง เลี้ยงจำนวน ๒ รุ่น ๆละ ๓๐๐ ตัว ผลจากการมาเยี่ยมดูลักษณะไก่ก็ทำให้ทราบจากคุณอำนวย ว่าไก่ที่นำเข้าเลี้ยงรุ่นแรกเมื่อเดือนเมษายนนั้น เป็นพันธุ์ประดู่หางดำแท้ส่วนใหญ่ แต่รุ่นที่สองเป็นสูกผสมพ่อประดูหางดำกับแม่ไก่ไข่โรด ผมเองที่เป็นผู้นำไก่เข้ามาส่งเสริมก็ตกใจหน้าแตกเพราะแนะนำให้เกษตรกรใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ อย่างไรก็ตามคุณอำนวยได้พูดให้กำลังใจว่าเกษตรกรเลี้ยงดีเพราะเลี้ยงรอดปกติลูกผสมนำมาเลี้ยงตามบ้านจะตายง่าย  สำหรับการดูลักษณะการสังเกตุพันธุ์แท้ ก็บอกว่าดูง่ายๆจาก แข้งไก่จะเป็นสีดำปากดำ หน้าแดง หงอนถั่ว สีขนจะดำทั้งตัว ผมเองก็ไม่เคยทราบรายละเอียดวันนี้ก็ดีใจที่ได้รับข้อมูลมากขึ้น คุณอำนวย ได้มอบหนังสือการดูสักษณะและการเลี้ยงไว้ให้จำนวนหนึ่ง และได้สละเวลาให้ความรู้แก่เกษตรกรกลุ่มไก่บ้านห้วยห้าง (๑กลุ่ม๑อำเภอของเวียงเชียงรุ้ง)ที่จะอบรมให้ความรู้การเลี้ยงและนำไก่จากศูนย์ฯมาเลี้ยงหนึ่งรุ่นเป็นพันธุ์ทั้งหมดประมาณ ๑๐๐๐ ตัว เพื่อให้เกิดรูปธรรม ตอนแรกจะชื้อแบบแรกเกิด คุณอำนวยบอกว่ากลัวลูกไก่ตายขอกกให้ก่อน สองอาทิตย์ ให้ไปรับในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ นี่ขนาดเจ้าของไก่มาเอง กว่าจะได้พันธุ์แท้ก็เกือบสามเดือนตั้งแต่ติดต่อกับคุณอำนวย ตอนต้นปีงบประมาณช่วงเดือนตุลาคม ว่าอยากจะทำให้เวียงเชียงรุ้งมีชื่อว่าเป็นแหล่งไก่ประดู่หางดำแท้ๆ ก็หวังว่าความพยายามคงสำเร็จในไม่ช้า

ไก่ประดูหางดำเชียงใหม่ 1 เป็นไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ ที่กรมปศุสัตว์และสำนักงานกองทุนวิจัย (สวก) ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาโดยดำเนินงานที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2545
สักษณะภายนอกประจำพันธุ์
  • เพศผู้ มีสร้อยคอ-หลังสีแดงประดู่ ขน หาง ลำตัว แข้ง ปาก สีดำ ใบหน้า สีแดง         ตาสีเหลืองอมน้ำตาล ผิวหนังสีสีขาวอมเหลือง หงอนถั่ว
  • เพศเมีย สักษณะเหมือนเพศผู้ยกเว้นที่ไม่มีขนสร้อย คอ หลัง
ลักษณะทางเศรษฐกิจ
เมื่อเลี้ยงในระบบฟาร์ม
  • อายุ ๑๒ สับดาห์ น้ำหนักตัวเพศผู้ ๑๓๕๗ กรัมเพศเมีย ๑๐๙๑ กรัม
  • อายุ ๑๖ สับดาห์ น้ำหนักตัวเพศผู้ ๑๙๐๒ กรัม เพศเมีย ๑๔๓๖ กรัม
  • อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก ๑๘๘ วัน 
  • ผลผลิต ๑๔๗ ฟอง/แม่/ปี
เมื่อเลี้ยงในหมู่บ้าน
  • อายุไข่ฟองแรก ๒๒๕ วัน
  • ให้ไข่ ๔๒ ฟอง/แม่/ปี
  • ให้ลูกไก่ ๒๙ ตัว/แม่/ปี (แม่ไก่ฟักไข่และเลี้ยงดูตามธรรมชาติ)
เอื้อเฟื้อภาพจากคุณอำนวย เลี้ยวธารากุล ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่



 วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๕  แวะเยี่ยมการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำบ้านนายสุขแก้ว มณีจันทร์สุข และนายเจียม ทาวัน หมู่ที่ ๒ ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ทราบว่ามีตายไปสองตัวจาก ๖๐ ตัว และไก่ประดู่รุ่นแรกบ้านลุงสุขแก้ว ได้ฟักออกมาแล้วก็ยังคงลักษณะของประดู่หางดำ  สอบถามลึกๆลุงสุขแก้วบอกว่าเป็นแม่ประดู่ ที่ผู้เขียนนำมาจากเชียงใหม่ แต่พ่อมีทั้งประดู่หางดำสองตัวและพันธุ์ผสมปนอยู่ด้วย ก็คงต้องรอให้โตกว่านี้จึงจะทราบว่ายังคงลักษณะไว้ได้หรือไม่  ส่วนนายเจียมมีไก่พื้นเมืองอยู่แล้วได้แนะนำให้ขายตัวผู้ออกแล้วชื้อพ่อพันธุ์จากลุงสุขแก้วมาคุมฝูงแทน
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ
ความคิดเห็นที่หนึ่ง
โบราณว่า"ประดู่หางดำ..ไม่ทำก็มีกิน"
ว่าแต่เป็นประดู่สวยงาม หรือประดู่ไก่ชนครับ
ความคิดเห็นที่๒
ผมไม่เคยได้ยินคำโบราณนี้เลยครับ เชยจริงๆ ก็เลยไม่ทราบความหมายลึกชึ้ง
ส่วนไก่ประดู่ที่ผมนำมาส่งเสริมอย่างที่เล่าไว้ตอนแรกก็คัดไก่ชนไก่พื้นเมืองที่มีลักษณะประดูหางดำที่กระจายทั่วประเทศมาคัดและนำมาเลี้ยงในฟาร์มเพื่อผสมกันให้ได้พันธุ์แท้ที่ลักษณะนิ่งแล้ว จึงนำมาส่งเสริมให้เลี้ยงครับ  ถึงแม้มันจะถูกปรับมาเป็นไก่ขุนแต่นิสัยไก่ชนก็ยังมีให้เห็นครับ
ความคิดเห็นที่๓
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายครับ
ที่เอาไก่ชั้นดีมาทำไก่ขุนเพียงอย่างเดียว น่าจะพัฒนาให้เป้นไก่ชนที่มีคุณภาพเป็นหลัก..เพราะไก่ชนกินอาหารเท่ากับไก่ขุน ลงทุนทุกอย่างเท่าๆกัน แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจ
ต่างกันมาก ครับ ไก่ขุน กิโลละไม่เกิน ๑๐๐ บาท..แต่ไก่ชนกิโลละอย่างน้อย ๒๐๐ บาทและอาจจะถึง ๑๐๐๐ บาท..
ฉะนั้นอยู่ที่ความคิดตั้งต้นนะครับ..ถ้าเราคิดที่ไก่ขุน เราก็ปิดประตูไก่ชน.. แต่ถ้าเราคิดไก่ชน..ประตูของไก่ขุนก็ยังเปิด..เพราะลูกไก่ที่สามารถเป็นไก่ชนได้ไม่น่าจะเกิน ๓๐ เปอร์เซ้นต์ ที่เหลืออีก ๗๐ % เราก็มาทำไก่ขุนต่อได้นะครับ..
แหม..จับไก่ชนไปเป็นไก่ขุน เสียดายจริงๆ
เอาเหล็กกล้ามาตีเป็นอีโต้
จะอวดโอ่โชว์ใครเขาได้หรือ
หากทำดาบปราบมารใครต้านมือ
ย่อมระบือลือไกลอยากไปยล
ประมาณนี่ครับ..
ความคิดเห็นที่๔
ผมเห็นด้วยกับความคิดของพี่ฝากฝันอย่างที่พี่เคยแนะนำตอนไปงานหมากเม่าและข้าวหลาม ไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนาแต่อย่างไร มีข้อมูลวิชาการที่ผ่านการวิจัยมาว่า ลักษณะดีเด่นของไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ๑ มีดังนี้
  • เป็นไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ มีการสร้างพันธุ์ขึ้นมาอย่างเป็นทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ มีขั้นตอน วิธีการสร้าง มีลักษณะประจำพันธุ์ทั้งภายในภายนอก และลักษณะทางเศรษฐกิจ เช่นไก่พันธุ์แท้ของทั่วโลก สามารถแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์ของประเทศไทยได้
  • เป็นฝูงไก่ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ทำให้สามารถไปพัฒนาพันธุ์ให้เป็นสายพันธุ์(variaty)ที่ต้องการได้ เช่นสายพันธุ์ทนโรค ,ชนเก่ง,โตเร็ว,ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารดี เป็นต้น
  • เป็นไก่พื้นเมืองที่ยังสามารถในการเลี้ยงดู การจัดการในชนบทได้ แต่มีสมรรถภาพการผลิตเมื่อเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจที่สูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป โดยน้ำหนักตัวที่อายุ ๑๒และ๑๖ สับดาห์ สูงกว่า ๓๓ และ๓๖ เปอร์เซนต์ตามลำดับ ส่วนการให้ไข่สูงกว่า ๔๐ เปอร์เซนต์(เมื่อเลี้ยงในฟาร์ม) และได้ลูกไก่มากกว่า ๓๒ เปอร์เซนต์ (เมื่อเลี้ยงในหมู่บ้าน)
  • เป็นไก่ที่มีขนลำตัวสีดำ ปากดำ และแข้งดำ ซึ่งเป็นลักษณะภายนอกของไก่พื้นเมืองที่ตลาดส่วนใหญ่ของประเทต้องการ เพราะแม้ชำแหละไก่แล้ว สีดำของขนและปากจะหายไป แต่สีแข้งของไก่สดที่วางไว้จำหน่ายยังคงเป็นสีดำ ทำให้มั่นใจว่าเป็นไก่พื้นเมืองจริง

แบบข้อเสนอโครงการวิจัย


ชื่อโครงการ      การศึกษาระบบการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่เป็นอาชีพที่ยั่งยืนของกลุ่มเกษตรกรจังหวัดเชียงราย (A Study on sustainable raising of Pradu-hangdum native chicken in Chiang Rai Province)
ชื่อหัวหน้าโครงการ : นางพรพิมล ใจไหว (Mrs. Pornpimon Jaiwai) ตำแหน่ง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เลขที่ 885 ถ.พหลโยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทรศัพท์/โทรสาร 0-5371-1604 ต่อ 20, 089-0178014 email: ppimon_b@hotmail.com
ชื่อผู้ร่วมโครงการ 1 : นายสุพล  ปานพาน (Mr. Supol Panphan) ตำแหน่ง ตำแหน่ง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เลขที่ 885 ถ.พหลโยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทรศัพท์/โทรสาร 0-898381597  email: supolpp@gmail.com
ชื่อผู้ร่วมโครงการ 2:   นางสาวอมรรัตน์  วรรณโชติ (Mss. Amonrat Wannachote)              ตำแหน่ง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ถ.ห้วยแก้ว ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 084-6082503 email: wannachote47@hotmail.com
รายชื่อเกษตรกรเครือข่ายที่ร่วมโครงการ
  1. นายติ๊บ  บั้งเงิน 42 หมู่ ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
  2. นางอัมพร  พลฤทธิ์ 12 หมู่ 7 ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
  3. นายชัยเพชร ภูชัยเจริญ 96 หมู่ ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
  4. นางสุธรรม ธรรมศร หมู่ ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
  5. นายคำฟอง จันทะอินทร์ 39 หมู่ ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
  6. นายกิติวุฒิ  นัยติ๊บ หมู่ ต.ป่าซาง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
  7. นายบุญชวน  มะลัยโย 91  หมู่ 10 ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย

หลักการและเหตุผล
            การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในชนบทมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เนื้อไก่พื้นเมืองสามารถใช้เป็นอาหารโปรตีนราคาถูก และหาได้ง่ายใช้บริโภคในครัวเรือน และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเนื้อไก่พื้นเมืองเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดมีความต้องการสูงไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงในชนบทและหมู่บ้านต่างๆ มีหลากหลายพันธุ์ แต่โดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว ไก่พื้นเมืองในหมู่บ้านจะมีสายพันธุ์ไก่ชน ที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ เนื่องจากลักษณะการเลี้ยง เป็นการเลี้ยงให้ไก่ออกหากินเองตามธรรมชาติในบริเวณบ้าน มีการให้อาหารเสริมบ้างเมื่อไก่กลับเข้าเล้าหรือโรงเรือนในตอนเย็น และยังมีอยู่บางส่วนที่ไม่มีเล้าหรือโรงเรือน จะนอนตามต้นไม้หรือไต้ถุนบ้าน ซึ่งการเลี้ยงในลักษณะนี้ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตต่ำ ได้ผลตอบแทนจากการเลี้ยงไก่พื้นเมืองน้อย และยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาดที่ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดผลกระทบด้านสาธารณสุขอีกด้วย
            ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ที่กรมปศุสัตว์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ส.ก.ว.)ร่วมกันพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาให้เป็นไก่พื้นเมืองที่มีความสามารถในการเลี้ยงดู และการจัดการในชนบทได้ แต่มีสมรรถภาพการผลิตเมื่อเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจที่สูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป นอกจากนี้ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ยังเป็นไก่ที่มีขนลำตัวสีดำ ปากสีดำ และแข้งสีดำ ซึ่งเป็นลักษณะภายนอกของไก่พื้นเมืองที่ตลาดส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ เพราะแม้ชำแหละไก่แล้ว สีของขนและปากจะหายไป แต่แข้งของไก่สดที่วางจำหน่ายยังคงเป็นสีดำ ทำให้มั่นใจว่าเป็นไก่พื้นเมืองจริง (อำนวย, 2553)
 จากลักษณะที่ดีเด่นของไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่นี้ เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม ให้เกิดความยั่งยืนในชนบท โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถผลิตพันธุ์เองได้ รวมถึงวิธีการเลี้ยงที่ใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาแบบท้องถิ่นผนวกกับเทคโนโลยี วิชาการ การเลี้ยงไก่ที่ทันสมัยในปัจจุบัน ตลอดจนการปรับลักษณะการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของเกษตรกรที่เดิมเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ให้เป็นการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย ให้อาหารที่เกษตรกรสามารถหาได้ในท้องถิ่นร่วมกับอาหารสำเร็จรูปเลี้ยงไก่เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ไก่มีการเจริญเติบโตเร็ว เกษตรกรก็จะสามารถจำหน่ายไก่ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ที่มุ่งศึกษาถึงระบบการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ที่เลี้ยงโดยเกษตรกรในภูมิสังคมชนบท ให้ได้รูปแบบที่เกษตรกรเลี้ยงไก่แล้วมีรายได้เสริมให้กับครอบครัว ใช้เป็นข้อมูลและตัวอย่างให้เกิดการเรียนรู้และสร้างอาชีพในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1.      เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ในกลุ่มเกษตรกรจังหวัดเชียงรายอย่างยั่งยืน
2.      เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่
3.      เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการเลี้ยงและการจำหน่ายไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ให้เกษตรกรหรือผู้สนใจมาเรียนรู้ศึกษาดูงาน
ปฏิทินการดำเนินโครงการ
                        กิจกรรม                                               ช่วงเวลาปฏิบัติงาน
1.      คัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ                         เมษายน 2555
2.      ปรับปรุงฟาร์มและระบบการเลี้ยง                                      เมษายน พฤษภาคม 2555
3.      จัดหาพ่อแม่พันธุ์ไก่                                                         เมษายน 2555
4.      ดำเนินการเก็บบันทึกข้อมูล                                               พฤษภาคม 2555 – เมษายน 2556
5.      สรุปผล                                                                          เมษายน 2556 


วิธีดำเนินการสร้างระบบอาชีพการเลี้ยงไก่
เสนอโครงการวิจัยต่อปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เพื่อขอความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการวิจัยทำการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการวิจัย โดยเน้นคัดเลือกจากเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเข้มแข็ง มีกระบวนการกลุ่มทีชัดเจนและต่อเนื่อง เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว  จัดประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ทำโครงการวิจัยและเกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อหาแนวทาง ข้อตกลง ในการดำเนินโครงการวิจัยคัดเลือกเกษตรกรแกนนำ จำนวน 7 คน เข้าร่วมโครงการวิจัย โดยให้สมาชิกทุกคนเป็นผู้ลงมติคัดเลือกเกษตรกรแกนนำจัดโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านการจัดการเลี้ยงตามหลักวิชาการ  การประยุกต์ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นมาเป็นอาหารไก่ การใช้น้ำหมักชีวภาพเสริมในอาหารและน้ำดื่มให้ไก่ การใช้สมุนไพรในการป้องกันโรค และการทำบัญชีฟาร์มปรับปรุงโรงเรือนเลี้ยงไก่ และอุปกรณ์การเลี้ยงให้อยู่ในสภาพดีและเหมาะสมสนับสนุนพันธุ์ไก่ประดู่หางดำพร้อมอาหารจำนวนหนึ่งแก่เกษตรกรบันทึกข้อมูล การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ของฟาร์มเชิญผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกร ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาศึกษาดูงานในกลุ่มเกษตรกรโครงการวิจัย เพื่อนำเสนอระบบการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นๆที่สนใจและมีศักยภาพการเลี้ยง โดยท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงต่อไปจัดทำสื่อเรียนรู้ นำเสนอระบบการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ในสภาพภูมิสังคมชนบท โดยใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคนิควิธีการเลี้ยงไก่โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในท้องถิ่นต่อไป

แรงสนับสนุนการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำที่เวียงเชียงรุ้ง

             วันจันทร์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕ มีจดหมายจาก สกว.ถึงผู้เขียนเชิญประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ เกี่ยวกับไก่ประดูหางดำ ที่แรกแปลกใจเพราะเราไม่เคยทำอะไรกับ สวก.พอเปิดอ่านจึงถึงบางอ้อ ทางคุณอำนวย ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่คง ส่งรายชื่อให้มีการเชิญผู้เขียนไปฟังด้วยเพราะกำลังส่งเสริมไก่ประดู่หางดำอยู่พอดี ตัดสินใจไม่ยากรีบส่งใบตอบรับไปทันทีครับก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าเขาทำอะไรไปถึงไหนกันแล้ว มีกำลังใจในการทำงานขึ้น
             เมื่อบทความครั้งก่อนเคยตั้งคำถามว่าพอจะมีใครไหนมาช่วยพัฒนาการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำที่เวียงเชียงรุ้งบ้าง ผ่านไปไม่ถึงเดือนก็ได้รับข่าวดีคุณพรพิมล ใจไหว นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ได้รับการพิจารณาให้เสนองานวิจัยในการพัฒนาไก่ประดู่หางดำและมองมาที่กลุ่มของอำเภอเวียงเชียงรุ้งด้วย มีการนัดหมายการมาเยี่ยมของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๕





รศ.ดร. ศิริพร กิรติการกุล และคณะจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดินทางมาเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มเลี้ยงไก่ประดู่หางดำบ้านห้วยห้าง เพื่อที่จะสนับสนุนทุนการวิจัยต่อยอดให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ประดู่หางดำมีความยั่งยืน  ซึ่งกลุ่มเลี้ยงไก่บ้านห้วยห้าง ได้ดำเนินการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำมาระยะหนึ่งจากการสนับสนุนของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอและวิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง โดยท่านผู้อำนวยการศักดิ์สิทธิ์ แสงกลับ สนับสนุนงบประมาณอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น(การเลี้ยงไก่ประดู่หางดำสำหรับเกษตรกรรายย่อย)เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ที่ผ่านมา  และได้จัดหาลูกไก่ประดู่หางดำพันธุ์แท้จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จังหวัดเชียงใหม่ มาจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว
อาจารย์ได้เล่าให้สมาชิกกลุ่มว่าได้ทราบข่าวว่ากลุ่มมีความเข้มแข็งมีพี่เลี้ยงที่คอยมาติดตามให้คำแนะนำจึงอยากจะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกลุ่มที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยการเลี้ยงไก่ให้ยั่งยืนในเกษตรกรรายย่อยระดับชาวบ้านให้เกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้จริงไม่มีการล้มเลิกไปกลางครันเพราะไก่ประดู่หางดำมีข้อดีกว่าไก่กระทงหรือไก่สามสายคือ โตเร็วกว่า มีไข่มากกว่า เนื้ออร่อยกว่า แต่มีข้อแม้ว่าหากครบปีขอให้แม่ไก่บางส่วนไปขยายเครือข่ายต่อไปได้อีกเพื่อจะรักษาลักษณะพันธุ์แท้ให้อยู่ในชุมชนตลอดไป



















กลุ่มคงต้องมีการประชุมหารือเพื่อคัดเลือกสมาชิกที่ให้ความร่วมมือ ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมจริงๆเท่านั้นเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ภาพการเลี้ยงไก่ประดู่ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาห้วยฮ่องไคร้








การนำไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่๑ ไปใช้ประโยชน์


  1. มีการนำพันธุ์ไก่ไปใช้ประโยชน์ ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและการจำหน่าย ไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้และลูกผสมพื้นเมือง ทั้งในระดับฟาร์มเอกชน ที่เป็นระดับอุสาหกรรม ฟาร์มของรัฐบาล จนถึงระดับเกษตรกร
  2. ก่อเกิดอาชีพที่เกี่ยวข้องกับไก่พื้นเมือง ทั้้งผู้ผลิตพันธุ์ ผู้เลี้ยงไก่ขุน ผู้ชำแหละ และผู็ขายไก่สดในตลาด โดยได้สร้างเครือข่ายฟาร์ม เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายผู้จำหน่ายไก่สด ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายไปในวงกว้างเรื่อยๆ
  3. สร้างการอนุรักษ์ไก่พื้นเมือง โดยให้ไก่ประดู่หางดำกลับสู่ถิ่นกำเนิดเดิม ในรูปเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงไก่ประดู่หางดำของกรมปศุสัตว์ คือนอกจากเก็บรักษาพันธุ์แท้ไว้เป็นฝูงต้นพันธุ์แล้ว ก็มีการกระจายพันธุ์แท้เหล่านี้เข้าสู่หมู่บ้านต่างๆ
  4. สร้างออาชีพที่ยังยืนในชนบท โดยอาศัยหลักเศรษฐกิิจพอเพียงที่เกษตรกรสามรถสร้างพันธุ์ได้เอง ใช้อาหารและวิธีการเเลี้ยงแบบท้องถิ่น บนพื้นฐานไก่พันธุ์ที่ถูกพัฒนาให้สามารถอยู่ได้ในสภาพการเลี้ยงของประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้นในอนาคต
ผมส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงไก่พันธุ์ประดูหางดำเชียงใหม่1ไปแล้ว กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรที่สงทุนเลี้ยงมีรายได้ต่อเนื่องยังยืนตลอดไปไม่คิดจะเลิกเลี้ยง กลางครัน คิดไปต่างๆนาๆหาข้อมูลจากงานวิจัยของหลายๆท่านในกรมปศุสัตว์ ก็มีแต่วิชาการที่ทดลองทำแล้วบอกได้เลยว่าเลี้ยงแบบนี้แล้วอยู่ได้  
พันธุ์ไม่มีปัญหาผมหามาให้แล้ว 
การเลี้ยงการจัดการไม่แน่ใจแต่ทุกคนผ่านการอบรมเรียนรู้มาหลายรอบ น่าจะผ่านเกินครึ่ง
การตลาดตอนนี้ยังราคาดี ไม่แน่อนาคตเ่อกันเลี้ยงมากๆจะตันไหม?
การจัดการกลุ่มให้มีความรักสามัคคีร่วมใจกันสร้างผลผลิตต่อเนื่องสู่ลูกค้า ต้องสร้างอีกนานกลัวจะกลายเป็นกลุ้ม
มีใครพอช่วยแนะนำหน่อยท่าจะดี
สู้ๆๆ 
ออกพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจเกษตรกรกันดีกว่า

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ หลังพักเที่ยงได้แวะเยี่ยมบ้านอาสาปศุสัตว์บ้านห้วยหมากเอียก นายบุญทวี วงค์พระเลื่อน  ซึ่งเคยรับชื้อไก่ประดูหางดำไปเลี้ยงปีที่แล้ว ตอนนี้แม่ไก่ที่คัดเลี้ยงไว้ ๔ ตัวกับพ่อไก่ ๑ ตัวเริ่มออกไข่ ชุดที่ ๒ แล้วหลังจาก พักรุ่นแรกออกมาแล้ว นายบุญทวีเล่าว่าลูกไก่ที่ฟักออกมาตัวโตเร็วดี น่าจะขายได้เร็วขึ้น  ได้แนะนำว่าถ้าจะให้ดีควรเพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธ์ให้มากกว่านี้เพราะยังมีบริเวณเลี้ยงอยู่พอสมควร ความพร้อมเรื่องอาหารการจัดการก็ดีพอไปได้อยู่แล้ว