การฟัก อีกแบบหนึ่ง ที่เราสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อให้ความร้อนสำหรับฟักไข่ เลียนแบบแม่ไก่เรียกว่า ตู้ฟักไข่ ตู้ฟักไข่ที่สร้างขึ้นนี้สามารถจะทำให้เชื้อในไข่เจริญเติบโตเป็นลูกไก่ได้ สามารถรักษาความชื้นในอากาศให้พอเหมาะกับความต้องการของไข่ฟัก สามารถถ่ายเทอากาศภายในเพื่อให้การหายใจของลูกไก่ที่กำลังเติบโตในไข่เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่บกพร่อง ความร้อนในตู้ฟักอาจได้มาจากไฟตะเกียงน้ำมันก๊าด ต้มน้ำให้ร้อนและใช้ท่อทองแดงพาน้ำร้อนไหลวนเวียน ทำให้ตู้อุ่นและเชื้อไข่เจริญเติบโตได้ หรืออาจจะใช้ความร้อนจากลวดร้อนไฟฟ้าก็ได้ผลเท่ากัน ปัจจุบันตู้ฟักไข่ส่วนมากใช้ไฟฟ้า
ด้วยเหตุผลที่ว่าการควบคุมความร้อนให้ได้ระดับคงที่ได้ผลดี กระทำได้ง่าย นอกจากความร้อนเราก็ได้เพิ่มเครื่องให้ความชื้นอีกด้วย เครื่องให้ความชื้นอย่างง่ายที่สุดเป็นถาดแบนๆ ใส่ทรายและใส่น้ำร้อนลงไป เมื่อน้ำร้อนระเหยเป็นไอน้ำ ก็จะทำให้อากาศภายในตู้ฟักชื้นมากชื้นน้อยได้ แล้วแต่ว่าเราใช้ถาดกว้างหรือแคบเพียงใด และให้น้ำร้อนบ่อยเพียงใดสำหรับเครื่องที่ใช้ไฟฟ้า และสามารถฟักไข่ได้มากเป็นจำนวนพันฟองขึ้นไป นิยมใช้เครื่องปั่นความเร็วสูงเพื่อเปลี่ยนน้ำให้เป็นละออง แล้วผสมกับอากาศร้อนก็จะได้ไอน้ำและได้ความชื้นสูงตามต้องการ ผู้ใช้เครื่องสามารถจะตั้งได้ว่าต้องการความชื้นในอากาศภายในตู้ฟักมีสูงเพียงใด วัดความชื้นสูงหรือต่ำเป็นความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งมีหน่วยเป็นร้อยละของความชื้นสูงสุดที่อากาศ ณ อุณหภูมิจะอุ้มไอน้ำไว้ได้
รายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาฟักของไข่ชนิดต่างๆ มีดังนี้
อายุฟักไข่สัตว์ปีกต่างๆ
ชนิดสัตว์ปีก เป็ด ไก่งวง นกยูง เป็ดมัสโควี ห่าน ไก่ ไก่ต๊อก นกกระทาญี่ปุ่น นกกระทาอเมริกัน ไก่ฟ้า นกกระจอกเทศ นกพิราบ | วัน ๒๘ ๓๓-๓๗ ๓๐-๓๒ ๒๑ ๒๖-๒๘ ๑๗-๑๙ ๒๑-๒๓ ๒๔-๒๕ ๔๒ ๑๖-๒๐ |
ความร้อนหรืออุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ทีเป็นเกณฑ์กลาง แสดงไว้ในตารางต่อไปนี้
ในการฟักไข่ มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการกลับไข่ ตามหลักวิชาไข่ที่เข้าตู้ฟักไข่ จะต้องได้รับการกลับอย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง อย่างมากอาจจะถึง วันละ ๔๘ ครั้งก็ได้ นับตั้งแต่วันที่สองที่เข้าตู้ฟักจนกระทั่งถึงวันที่ ๑๘ คืออีก ๓ วัน ลูกไก่จะออกจากไข่จึงจะหยุดกลับไข่ สำหรับไข่สัตว์ปีกอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ควรหยุดกลับไข่ ๓-๔ วัน ก่อนถึงกำหนดออกจากไข่ เหตุผลในการกลับไข่นี้มีอยู่ว่าเมื่อเชื้อของพ่อไก่ผสมกับไข่ของแม่ไก่เป็นเชื้อของตัวอ่อนซึ่งจะเจริญเติบโตได้ต่อไปแล้ว เชื้อลูกไก่หรือเชื้อตัวอ่อนนี้จะอยู่ที่จุดหนึ่งของผนังหุ้มไข่แดงบ้างก็เรียกเชื้อนี้ว่าจุดกำเนิด จุดกำเนิดนี้จะพยายามลอยขึ้นด้านบนอยู่เสมอ ฉะนั้นไม่ว่าจะวางไข่อย่างใด ไข่แดงจะค่อยๆ หมุนตัวเพื่อให้จุดกำเนิดอยู่ด้านบนสุด ในระยะฟักตอนต้นไข่ขาวยังข้นอยู่ ไข่แดงลอยอยู่ท่ามกลางไข่ขาว และไข่ขาวจะป้องกันมิให้ไข่แดงลอยขึ้นมาชิดเปลือกไข่ แต่เมื่อฟักไปได้หลายๆ วัน ไข่ขาวแปรสภาพและมีน้อยลง จุดกำเนิดซึ่งเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนก็ยังลอยขึ้นข้างบนและสามารถจะลอยเข้าชิดเปลือกไข่ทุกขณะ หากปล่อยทิ้งไว้ให้ชิดเกินไป ตัวอ่อนไก่จะติดเยื่อเปลือกไข่ เป็นสาเหตุให้เชื้อตายได้ วิธีแก้เราเรียนโดยสังเกตจากแม่ไก่ว่า แม่ไก่จะใช้เท้าของมันขยับไข่ที่มันฟักอยู่ให้กลิ้งไปกลิ้งมาโดยทั่วกันอย่างน้อยวันละ ๕ หน เพื่อให้โอกาสเชื้อหรือตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตได้เคลื่อนไปมาไม่ลอยเข้าไปติดเยื่อเปลือกไข่ฉะนั้นเมื่อเราฟักไข่ในตู้ฟักก็อาจจะใช้มือหมุนกลับไข่จากข้างบนให้ลงไปอยู่ข้างล่าง หรือว่าถ้าตู้ฟักวางไข่โดยตั้งทางด้านป้านขึ้นก็ให้เปลี่ยนมุมตั้งจะได้ผลเท่ากัน
มีปัญหาข้อหนึ่งที่ชอบถามกัน คือว่า ลูกไก่เกิดจากไข่ขาวหรือไข่แดง คำตอบอาจจะตอบสั้นๆไม่ได้ ตามที่เราทราบแล้วเมื่อตอนต้นว่าเชื้อลูกไก่หรือจุดกำเนิดมิใช่ไข่แดงและก็ไม่ใช่ไข่ขาว แต่อยู่ที่ผนังหุ้มไข่แดง จุดกำเนิดนี้เมื่อเจริญเติบโตเป็นเชื้อลูกไก่ก็ได้อาศัยอาหารซึ่งย่อยมาจากไข่แดงและ ไข่ขาวด้วย มาสร้างตัวของมันเอง ฉะนั้นอวัยวะต่างๆ เนื้อหนัง กระดูก ขนจึงมาจากไข่แดงและไข่ขาว นอกจากนั้นการสร้างกระดูกต้องใช้ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งในไข่ขาวและไข่แดงมีน้อยมาก เชื้อลูกไก่ต้องเอาแร่ธาตุนี้มาจากเปลือกไข่ ฉะนั้นถ้าเราช่างสังเกตจะเห็นว่าเปลือกไข่ก่อนฟักนั้นค่อนข้างจะหนาและแข็งแรง แต่เมื่อลูกไก่ฟักออกจากไข่ เปลือกไข่ที่เหลืออยู่แม้จะไม่บางลงแต่กรอบเปราะและมีน้ำหนักหายไป
ลูกไก่เมื่อแรกฟักออก ตัวจะเปียกแล้วจึงค่อยๆ แห้ง เมื่อแห้งแล้วขนจะฟูอ่อนนุ่ม และดูสวยน่ารักน่าลูบคลำ แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นลูกไก่บางรุ่นที่ขนไม่ฟู ดูเหมือนกับว่ามีอะไรเคลือบตัวทำให้ตัวลีบ และลูกไก่มักมีน้ำหนักค่อนข้างเบาสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือ ความชื้นของอากาศภายในตู้ฟักต่ำเกินไป ทำให้น้ำภายในไข่ระเหยออกมากในขณะฟัก จึงได้ลูกไก่ตัวเล็กและขนไม่ฟู อาการเช่นนี้มักเกิดขึ้นง่ายในระหว่างฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่อากาศมีความชื้นต่ำ และถ้าผู้ฟักไข่เป็นผู้มีความระแวดระวังก็แก้ไขได้ โดยคอยเพิ่มความชื้นในตู้ฟักให้สูงพอดีกับความต้องการ แต่การเพิ่มความชื้นจนเกินต้องการก็มีผลเสีย เพราะน้ำภายในไข่ฟักระเหยออกได้น้อย มีน้ำเหลืออยู่ในฟองไข่มากกลับจะเป็นอันตรายแก่ลูกไก่
เมื่อลูกไก่ออกจากไข่แล้วไม่นานนัก มันก็ยืนได้แล้วเดินได้ ไม่ช้าก็วิ่งได้ภายใน ๑-๒ วันในท้องของลูกไก่เมื่อฟักออกจะมีถุงไข่แดงเหลืออยู่เป็นเสบียงติดตัว ใช้เป็นอาหารไปได้ถึง ๓ วันด้วยเหตุที่ธรรมชาติจัดเสบียงสำรองให้ลูกไก่ดังนี้ ผู้เลี้ยงไก่จึงสามารถขนส่งลูกไก่เจี๊ยบเป็นระยะทางไกลๆ ได้โดยไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการหาน้ำหาอาหารให้มันกินระหว่างเดินทาง เราจะเห็นเขาส่งลูกไก่ จากกรุงเทพมหานครไปเชียงราย หรือหาดใหญ่ได้โดยสะดวก หรือแม้จะส่งทางเครื่องบินรอบโลกก็ได้ลูกไก่ย่อยอาหารสำรองจากถุงไข่แดงใช้เลี้ยงตัวในระยะ ๓ วันแรกนี้จึงไม่หิว แต่เราจะต้องระมัดระวังว่ากล่องบรรจุลูกไก่ขณะเดินทางนี้มีความอบอุ่นพอดี และมีอากาศถ่ายเทเพียงพอสำหรับการหายใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น